สารก่อภูมิแพ้ทางอาหาร (Food allergen) หมายถึง อาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้สำหรับบางคนที่มีภาวะเป็นโรคแพ้อาหาร ซึ่งเมื่อรับประทานอาหารที่ก่อภูมิแพ้เข้าไปแล้วจะทำให้ร่างกายเกิดอาการไม่พึงประสงค์ (Adverse Food Reaction; AFR) โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน แบ่งเป็น lgE Mediated reaction เช่น อาการแพ้ถั่วลิสงที่เกิดขึ้นภายใน 1 นาทีหลังจากกินเข้าไป และ Non lgE Mediated reaction ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และอีกหนึ่งกลุ่มคือ Food intolerances ซึ่งไม่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น Lactose intolerances โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ Toxic reaction เช่น อาหารเป็นพิษ หรือได้รับพิษจากปลา และ Non-toxic reaction เช่น แพ้นม (Lactose intolerances)
ในปัจจุบันการระบุอาหารที่ก่อภูมิแพ้บนฉลากสินค้ามีความสำคัญต่อผู้บริโภคมากขึ้นทุกขณะเนื่องจากอาหารในปัจจุบันมีส่วนผสมที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจมีส่วนผสมของอาหารก่อภูมิแพ้ร่วมด้วย ผู้บริโภค รวมทั้งภาครัฐของประเทศต่างๆ จึงหันมาให้ความสนใจในการควบคุม รวมทั้งออกกฎระเบียบสำหรับการให้ข้อมูลบนฉลากแก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้ออาหารที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อสุขภาพของตนเอง และเนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาอาการแพ้อาหาร แต่เป็นเพียงการรักษาเพื่อบรรเทาอาการแพ้ตามกรณีที่พบ รวมทั้งผู้บริโภคต้องหลีกเลี่ยงอาหารนั้นๆ ด้วยตัวเอง
แนวทางการจัดการหรือควบคุมอาหารก่อภูมิแพ้ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเกิดอันตรายหรือมีการปนเปื้อนโดยไม่ตั้งใจเกิดขึ้นสามารถทำได้หลายวิธี โดยโรงงานผู้ผลิตจะต้องมีมาตรการควบคุมและจัดการอาหารก่อภูมิแพ้เพื่อป้องกันและลดอันตรายที่อาจจะไปถึงผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมาตรฐานที่นิยมนำไปประยุกต์ใช้ ได้แก่ BRC Food, FSSC 22000, ISO 22000 เป็นต้น ซึ่งในแต่ละมาตรฐานก็จะระบุข้อกำหนดที่โรงงานจะต้องปฏิบัติ
ขอขอบคุณ : www.foodfocusthailand.com